แนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘

หลักการ
(๑) ระยะเร่งด่วน (๑ สัปดาห์)

     ๑. จัดประชุมชี้แจงแนวปฏิบัติในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ให้ผู้บริหาร ส่วนงาน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานมหาวิทยาลัย สำนักงานวิทยาเขต และส่วนงาน ทราบ

               ๒. จัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่องต่างๆ ที่แต่ละส่วนงานและหน่วยงานจะต้องดำเนินการ ภายใน ๑ สัปดาห์ โดยเน้นความสอดคล้องกับแผนงบประมาณ ทั้งงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณเงินรายได้ เพื่อความต่อเนื่องและไม่ให้เกิดความผิดพลาดตามที่กฏหมายบัญญัติ

               ๓. มหาวิทยาลัยนำเสนอประกาศและข้อบังคับที่ออกตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ครั้งที่ ๗/๒๕๕๘ ในวันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ที่เร่งด่วนที่ต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ข้อบังคับว่าด้วยการจัดตั้งส่วนงาน และอื่นๆ อาทิ ข้อบังคับว่าด้วยคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย และประกาศหรือข้อบังคับอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งแผนการเสนอประกาศและข้อบังคับที่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นลำดับแรกให้พิจารณาในที่ประชุม

               ๔. มหาวิทยาลัยต้องกำหนดผู้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติ ในกรณีมีข้อสงสัย หรือต้องวินิจฉัย โดยกำหนดบุคคลผู้ประสานงานในเรื่องการปรับแนวทางการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ให้สภามหาวิทยาลัยฯ ทราบ ภายใน ๑ สัปดาห์

  ส่วนกลาง                                                       วิทยาเขต               

  ส่วนงาน (คณะ สถาบัน สำนัก และเทียบเท่า)       หน่วยงาน (ภาควิชา ฝ่าย ศูนย์ สถานี)

               ๕. ในเบื้องต้นเร่งด่วน ให้สรุปความคืบหน้าในการดำเนินงาน พร้อมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขที่ปฏิบัติ ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปลี่ยนผ่านเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แล้วรวบรวมเสนอต่อฝ่ายบริหาร ระยะเร่งด่วน ก่อน ๑๒.๐๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำเสนอข้อมูลต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ทราบเป็นเอกสาร ก่อน ๑๔.๐๐ น. สำหรับเตรียมการนำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ครั้งที่ ๗/๒๕๕๘ ในวันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘

               ๖. จัดตั้ง “ศูนย์เกษตรศาสตร์ ๒๕๕๘” มีหน้าที่ในการดำเนินการและประสานการดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยและส่วนงาน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบด้วย

                    รองอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน

                    คณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ผู้อื่นที่สภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมอบหมาย

                    เจ้าหน้าที่สำนักงานสภามหาวิทยาลัย เป็นเลขานุการ

               ๗. มหาวิทยาลัยต้องเร่งจัดให้มีระบบฐานข้อมูลและการสื่อสาร เพื่อการสร้างความเข้าใจในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ชัดเจน ในลักษณะคำตอบของ “คำถามที่เกิดขึ้นบ่อย” (Frequent Ask Question, FAQ) บน Website ของสภามหาวิทยาลัย ส่วนกลาง วิทยาเขต และส่วนงาน

               ๘. จัดพิมพ์เอกสาร “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘” เผยแพร่ให้ผู้บริหาร ส่วนงาน หน่วยงาน บุคลากร นิสิต นิสิตเก่า และผู้สนใจทั่วไป รับทราบ

(๒) ระยะสั้น ๖ เดือน

               ๑. ส่วนงานและหน่วยงานดำเนินการปรับแนวทางการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่องต่างๆ แล้วรายงานความคืบหน้าให้ทราบ ภายใน ๖ เดือน เพื่อความต่อเนื่องและลดความผิดพลาดตามระเบียบแบบแผนและตามที่กฏหมายบัญญัติ โดยเน้นความสอดคล้องกับแผนงบประมาณ

               ๒. มหาวิทยาลัยจัดประชุมส่วนงาน/หน่วยงาน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ เป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ

               ๓. ส่วนงานต้องประมวลปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขที่ปฏิบัติ แล้วรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการประจำส่วนงานทราบ  พร้อมทั้งเสนอฝ่ายบริหาร ทุกวันศุกร์ เพื่อนำไปสู่การอธิบาย ชี้แจง และให้คำแนะนำในการแก้ไขหรือดำเนินการโดยเร็วที่สุด

               ๔. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและส่วนงานที่รับผิดชอบ ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักปฏิบัติ ไม่สร้างความสับสนให้กับส่วนงาน หรือหน่วยงาน หรือบุคลากร หรือนิสิต ด้วยคำวินิจฉัยของตนเอง ที่อาจคลาดเคลื่อนหรือไม่แน่ใจ หรือไม่ชัดเจนเพียงพอ

               ๕. มหาวิทยาลัยฯ นำเสนอประกาศและข้อบังคับ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ให้สภามหาวิทยาลัยฯ พิจารณา โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาคมที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดแผนให้ชัดเจนว่าในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแต่ละครั้ง จะเสนอข้อบังคับเรื่องใดที่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นลำดับแรกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม อาทิ ข้อบังคับการสรรหาอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน สำนัก และหัวหน้าภาควิชา ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการสรรหาและให้ได้มาซึ่งสภามหาวิทยาลัยฯ สภาพนักงาน คณะกรรมการวิชาการ และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย เป็นต้น

(๓) ระยะปานกลาง (๑ ปี)

               ๑. ฝ่ายบริหารนำเสนอผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยฯ ต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ทุกเดือน เพื่อให้รับทราบและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ราบรื่น ต่อเนื่อง และเรียบร้อย

               ๒. ส่วนงานประมวลปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขที่ปฏิบัติ แล้วรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการประจำส่วนงานทราบ  พร้อมทั้งเสนอฝ่ายบริหาร เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยฯ พิจารณาต่อไป

               ๓. มหาวิทยาลัยฯ นำเสนอประกาศและข้อบังคับ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ให้สภามหาวิทยาลัยฯ พิจารณา

               ๔. มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสภามหาวิทยาลัยฯ สภาพนักงาน คณะกรรมการวิชาการ และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย ชุดใหม่

               ๕. มหาวิทยาลัยฯ เร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘

      (๔)  ระยะยาว (ตั้งแต่ ๑ ปีเป็นต้นไป)

               ๑. ฝ่ายบริหารนำเสนอผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย สรุปการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขในการบริหารงาน ต่อสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้รับทราบและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ราบรื่น ต่อเนื่อง และเรียบร้อย

               ๒. มหาวิทยาลัยฯ และส่วนงาน เร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘

               ๓. มหาวิทยาลัยฯ และส่วนงาน ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ให้สภามหาวิทยาลัยฯ พิจารณา

สาระสำคัญ
(๑) เรื่องที่เกี่ยวกับธุรการ

               ๑. กำหนดรูปแบบของหนังสือภายนอกและหนังสือภายใน ในรูปแบบใหม่ โดยยกเลิกการใช้สัญลักษณ์ครุฑบนหัวหนังสือและเปลี่ยนไปใช้ตราของมหาวิทยาลัยแทน ซึ่งต้องมีประกาศและสั่งการเพื่อกำหนดให้ทุกส่วนงานใช้ถือปฏิบัติให้เป็นรูปแบบเดียวกัน

               ๒. ให้คำนึงถึงถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือ ไม่มีเรื่อง “ราชการ” อีกต่อไป อาทิ รักษาราชการแทน หรือปฏิบัติราชการแทน เป็น “รักษาการแทน” หรือ “ปฏิบัติการแทน” เป็นต้น

               ๓. ต้องให้ส่วนงาน (คณะ สถาบัน สำนัก) ทำความเข้าใจกับหน่วยงาน (ภาควิชา ฝ่าย ศูนย์ สถานี) ทราบโดยด่วนที่สุด ทั้งทางเอกสารและทางการสนทนาชี้แจง เพื่อจะได้เริ่มปฏิบัติทางธุรการได้อย่างถูกต้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในภูมิภาค

               ๔. ในกรณีที่มีปัญหาความไม่เข้าใจในการปฏิบัติทางธุรการ ให้เร่งสอบถามผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของส่วนงาน หรือผู้ที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน  และควรให้หน่วยงานในภูมิภาคแจ้งส่วนราชการในพื้นที่ทราบสถานการณ์และความเป็นปัจจุบันของมหาวิทยาลัยฯ ด้วย

(๒) เรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และวิธีการบริหารงาน

               ๑. นอกเหนือจากประกาศและข้อบังคับที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ ขอให้ทุกส่วนงาน สำรวจบรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ที่มีผลบังคับใช้เป็นการเฉพาะสำหรับส่วนงานนั้นๆ เพื่อปรับแก้ไข หรือเสนอให้มหาวิทยาลัยปรับแก้ไข ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนสถานะภาพของมหาวิทยาลัย อาทิ การใช้สัญญลักษณ์ครุฑ หรือข้อความเกี่ยวกับราชการที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นๆ หรืออำนาจที่ใช้ในการออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ซึ่งเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๑ ที่ยกเลิกแล้วเป็นต้น

               ๒. สภามหาวิทยาลัยฯ กำหนดนโยบายในการรับฟังความเห็นสำหรับข้อบังคับที่ออกตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘  ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นทุกฉบับ โดยกำหนดให้รับฟังความเห็นเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบต่อบุคลากรเท่านั้น อาทิ

 ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล 

 ข้อบังคับเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานภาพ

 ข้อบังคับที่มีการแก้ไขหลักการเดิมเป็นจำนวนมาก

 ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเฉพาะส่วน ก็รับฟังความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง

               จากนั้น ให้สรุปผลเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯ พิจารณาต่อไป

               สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานอื่นๆ อาทิ

                       ข้อบังคับคณะกรรมการประจำวิทยาเขต ก็มอบให้แต่ละวิทยาเขตนำไปดำเนินการพิจารณาเสนอ

                      ข้อบังคับว่าด้วยสภาพนักงาน ก็มอบให้สภาข้าราชการนำไปดำเนินการพิจารณาเสนอ

                      ข้อบังคับธรรมนูญนิสิต ก็มอบให้องค์การบริหารองค์การนิสิต ร่วมกับกองกิจการนิสิต  นำไปดำเนินการพิจารณาเสนอ

                      ข้อบังคับเกี่ยวกับวิชาการและการศึกษา ก็มอบให้สำนักทะเบียนและประมวลผล ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย นำไปดำเนินการพิจารณาเสนอ

               ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ โดยในขั้นตอนการดำเนินการจะมีคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างข้อบังคับเรื่องนั้นๆ เป็นผู้อธิบายหรือให้ข้อมูลในกรณีที่มีข้อสงสัย

               ๓. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานภายนอกให้เป็นกรรมการ ควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ทราบและพิจารณาด้วยว่า เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะ หรือกรณีเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงาน จะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการสำหรับหน่วยงานนั้นๆ หรือไม่ เนื่องจากอาจทำให้มติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ในกรณีที่ขาดคุณสมบัติ

(๓) เรื่องอื่น ๆ

               ๑. มหาวิทยาลัยและส่วนงานต้องเร่งจัดให้มีคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์เป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่สื่อสารแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘  และสื่อสารให้นิสิต ตลอดจนองค์กรภายนอกเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรพันธมิตรภายในประเทศ สถาบันคู่สัญญาต่างประเทศ ส่วนราชการ  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ทราบอย่างถูกต้อง  โดยมีทีมงานที่พร้อมให้บริการ เป็นผู้ปฏิบัติ

               ๒. สภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านสื่อต่างๆ โดยรวดเร็ว

ดาวน์โหลดไฟล์ (.pdf)